Saturday, March 14, 2015

ตอบข้อสงสัยเรื่อง สะเต็มศึกษา

หลายครั้งที่ผมได้ออกไปบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา มักจะมีคำถามเดิมๆ อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น วันนี้จึงขอเขียนบอกเพื่อตอบข้อสงสัยกันแบบชัดๆ เพื่อให้เข้าใจกันดังนี้ครับ

คำถาม: สะเต็มศึกษาคือหลักสูตรใหม่หรือไม่?
ตอบ: สะเต็มศึกษาเป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการบูรณาการวิทย์ คณิต เทคโนโลยี และกระบวนการเชิงวิศวกรรม ไม่ได้เป็นการจัดทำหลักสูตรใหม่ที่เรียกว่าหลักสูตรสะเต็มศึกษา

คำถาม: เทคโนโลยีและวิศวกรรมคืออะไรและต่างกันอย่างไร?
คำตอบ: เทคโนโลยี เป็นอะไรก็ตามที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการอำนวยความสะดวกหรือสนองความต้องการหรือความจำเป็นของมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นชิ้นงานหรือวิธีการก็ได้ รวมถึงวัสดุ เครื่องมือก็เป็นเทคโนโลยี ในขณะที่วิศวกรรมในทางสะเต็มศึกษานั้นจะเป็นเรื่องของกระบวนการของการทำงาน การแก้ปัญหาโดยใช้วัสดุอุปกรณ์มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

คำถาม: จะต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบใด หรืออะไรที่จะบอกได้ว่าเป็นสะเต็มศึกษา?
ตอบ: จริงๆ แล้วต้องขอบอกว่าคำถามนี้ตอบยาก เนื่องจากต้นตำหรับจริงๆ ของอเมริกาก็ไม่ได้มีการบอกไว้อย่างชัดเจนว่าจะทำอย่างไรจึงจะเรียกได้ว่าเป็นสะเต็ม แต่ที่แน่ๆ คือสอนอย่างไรก็ได้ที่มุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ด้านวิทย์ คณิต เทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในชีวิตจริง ซึ่งนักเรียนต้องมีการวางแผนการแก้ปัญหา ลงมือปฏิบัติ และได้ผลลัพธ์ออกมาซึ่งอาจะเป็นวิธัีการหรือชิ้นงานก็ได้ และกระบวนการของการแก้ปัญหานี้แหละคือที่เรียกกันว่ากระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม

คำถาม: การจัดกิจกรรมสะเต็มจำเป็นต้องได้ผลลัพธ์เป็นชิ้นงานที่จับต้องได้เท่านั้นหรือไม่?
ตอบ: ไม่จำเป็นต้องเป็นชิ้นงาน อาจเป็นแนวทางการทำงานหรือการแก้ไขปัญหาใหม่ที่ดีกว่าก็ได้ เช่น การออกแบบแนวทางหรือวิธีการเก็บรักษาหรือถนอมอาหารบางอย่างให้ได้นานขึ้นก็ถือได้ว่าเป็นการทำงานผ่านกระบวนการออกแบบเชิงวิศกรรมที่เรียกได้ว่าท่านกำลังทำสะเต็มอยู่

คำถาม: จำเป็นต้องมีครบทุกสี่วิชาหรือไม่เพื่อให้เป็นสะเต็ม?
ตอบ: ไม่จำเป็นต้องครบทุกวิชา แต่ควรเป็นการบูรณาการความรู้จากวิทย์ หรือคณิต หรือเทคโนโลยี เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าถ้าท่านสามารถออกแบบกิจกรรมที่สามารถบูรณาการกันได้หลายวิชาก็จะทำได้กิจกรรมนั้นมีความสมบูรณ์หรือน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

คำถาม: โครงงานวิทยาศาสตร์เป็นสะเต็มหรือไม่
ตอบ:  โดยส่วนมากโครงงานมักเป็นสะเต็ม แต่ก็ไม่เสมอไป ซึ่้งโครงงานด้านสิ่งประดิษฐ์มักจะเป็นสะเต็มอยู่แล้วเพราะมีการให้ผู้เรียนได้ใช้ความรํู้ในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการ แต่โครงงานบางชนิด เช่น การสำรวจตรวจสอบให้ได้มาซึ่งข้อมูลทั่วๆ ไปอาจยังไม่ได้เป็นสะเต็ม ส่วนการโครงงานเชิงการทดลองเพื่อให้ได้มาซึิ่งวิธีการในการทำงานหรือแก้ปัญหาบางอย่างให้ดีขึ้นสามารถเรียกได้ว่าเป็นสะเต็มเช่นกัน

คำถาม: การให้ผู้เรียนได้ลงสำรวจหรือเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในท้องถิ่น ถือว่าเป็นสะเต็มหรือไม่?
ตอบ:  โดยทั่วไปแล้วการทำกิจกรรมลักษณะนี้เรามัักให้ผู้เรียนได้สำรวจและเข้าใจถึงสิ่งแวดล้อมหรือการทำงานในท้องถิ่นซึ่งก็ถือว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความเป็นจริง จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการเรียนสะเต็มกลายๆ แต่จะเป็นสะเต็มมากขึ้นถ้าท่านให้นักเรียนได้คิดถึงปัญหาที่พบในท้องถิ่นที่ได้สำรวจแล้วให้นักเรียนได้คิดหาแนวทางแก้ปัญหาเหล่านั้นหรือหาทางพัฒนาเพื่อให้การทำงานดีขึ้น และแน่นอนว่าบางอย่างอาจไม่สามารถทำได้จริง แต่นักเรียนสามารถสรุปเป็นแนวทางหรือนำเสนอโมเดลของการแก้ปัญหาได้ซึ่งจะทำให้เข้าสู่สะเต็มมากยิ่งขึ้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเป็นคำถามหลักๆ ที่มักจะถามกันอยู่เป็นประจำเมื่อพูดถึงสะเต็มศึกษา อย่างไรก็ตามอยากเสนอแนะว่า จริงๆ แล้วกระบวนการจัดการเรียนรู้อะไรก็ตามด้านวิทย์ คณิต เทคโนโลยีที่เราส่งเสริมให้ผู้เรียนสนใจ เรียนรู้อย่างมีความหมาย เชื่อมโยงชีวิตจริง ก็ถือว่าท่านประสบความสำเร็จแล้ว