Wednesday, December 21, 2011

แง่คิดดีๆ

วันนี้ได้ไปร่วมประชุมหารือการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาตำราวิทยาศาสตร์ศึกษากับคณะครูโรงเรียนอัตตาภิวัฒน์ สมุทรสาคร ได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์หลายๆ อย่าง รวมถึงได้ทราบถึงแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามปรัชญาของโรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในโรงเรียนต้นแบบที่เน้นการศึกษาเพื่อการสร้างผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน
มีประเด็นสำคัญหลายๆ อย่างที่ได้รับจากการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดในวันนี้ เช่น

การสอนภาษาไทยในอดีต ที่ให้นักเรียนท่อง มานี มานะ ปิติ ชูใจ เป็นการสอนที่ยังขาดเรื่องการคิดและการให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาจริง มีคำเปรียบเปรยกับภาษาอังกฤษที่ว่า Learn to Read, not Read to Learn...ซึ่งสองอย่างนี้ให้ความหมายที่ต่างกัน และมีความลึกซื้งต่างกันมาก โดยจะพบว่าการเรียนสมัยก่อนนั้นจะเป็นไปในลักษณะของ Learn to Read มากกว่า

การเข้าแถวหน้าชั้นเสาธงทุกวัน เป็นสิ่งที่ดีในการช่วยส่งเสริมวินัยของนักเรียน แต่แนวคิดของโรงเรียนคือพยายามให้ใช้เวลากับส่วนนี้น้อยลง และใช้เวลาในการเล่าเรื่องต่างๆ ที่สำคัญและช่วยส่งเสริมความคิดและประสบการณ์ให้นักเรียนได้มีความรู้รอบตัวมากขึ้น เรื่องเล่าอาจเป็นข่าวสำคัญๆ ที่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบันก็ได้ โดยรูปแบบการเล่าเรื่องและนำเสนอต้องให้สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อด้วย แนวคิดการจัดกิจกรรมประจำวันเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีมากๆ

ปรัญญาของโรงเรียนอันนึงที่ฟังแล้วน่าสนใจและประทับใจคือ การสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้รักการเรียนโดยที่ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียดความรู้ให้นักเรียน นักเรียนเรียนรู้ในส่งที่ตนเองชอบและเรียนรู้อย่างสนุก ซึ่งทำให้นักเรียนมีแรงบันดาลใจที่จะทำในสิ่งที่ตนเองรักได้อย่างเต็มความสามารถ การสอนมุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้เพื่อสามารถที่จะทำงานได้ด้วยตนเอง แก้ปัญหาเองได้ ไม่ใช่เรียนเฉพาะเนื้อหาในชั้นเรียนเท่านั้นเพื่อโลกการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว "เราไม่สามารถสอนในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถสอนให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนแนวคิดวันนี้ทำให้ได้แง่คิดเพื่อการพัฒนาการศึกษาและการทำงานของเราเป็นอย่างดี

Tuesday, December 6, 2011

การออกแบบและเทคโนโลยีในประเทศไทย

เมื่อพูดถึงวิชาการออกแบบและเทคโนโลยี คงทำให้หลายๆ คนเริ่มสงสัยว่า มันคืออะไรเหรอ มีด้วยเหรอวิชานี้ เกี่ยวกับการออกแบบหรือเปล่า และอีกมากมายหลายคำถามในใจ วันนี้จึงอยากนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับวิชาการออกแบบและเทคโนโลยีให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นว่ามันคืออะไรกันแน่ ทำไมต้องมีวิชานี้ แล้วจะสอนกันอย่างไร

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นนำให้เห็นที่ไปที่มาของวิชาในเชิงประวัติศาสตร์ซะหน่อย ถึงแม้ว่าอาจไม่นานมากจะกระทั่งเป็นประวัติศาสตร์ได้ ว่าแล้วก็เข้าเรื่องเลยแล้วกันครับ วิชาออกแบบและเทคโนโลยีเริ่มต้นมาจากการเตรียมปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสมัยนายกบรรหาร หรือช่วง พรบ การศึกษา 2542 ออกมาใหม่ๆ ที่ต้องการให้การศึกษามีความหลากหลายในการปฏิบัติ เป็นหลักสูตรแกนกลางที่มีโครงสร้างหลักสูตรที่ยืดหยุ่น มีการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นระดับช่วงชั้น เน้นเปิดโอกาสให้มีการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามสภาพท้องถิ่น ซึ่ง พรบ การศึกษาสมัยนั้นมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้ความสำคัญขององค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอยู่ด้วย ดังนั้นจึงมีการเตรียมร่างหลักสูตรเกี่ยวกับเทคโนโลยีเข้าไปด้วย โดยพยายามที่จะรวมไว้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยได้ร่างเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ที่ 6 ในกลุ่มวิทยาศาสตร์ โดยใช้ชื่อว่า "ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี" และแบ่งออกเป้น 3 ควมเข้าใจหลักด้วยกัน ได้แก่ ธรรมชาติของเทคโนโลยี การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยี และคุณธรรมและจริยธรรมทางเทคโนโลยีและผมกระทบของเทคโนโลยีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

แต่ภายหลังจากที่ได้ร่างหลักสูตรมาและเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ปรากฏว่าวิชาเทคโนโลยีถูกมองว่าไม่เหมาะกับการที่จะมาอยู่ในกลุ่มวิทยาศาสตร์เนื่องจากเนื้อหาหลักของวิทยาศาสตร์ก็มีมากอยู่แล้วจะเป็นปัญหาต่อการจัดหาเวลาเรียนสอน ประกอบกับนักวิชาการที่พิจาณามองว่าเป็นวิชาที่น่าเกี่ยวกับกับพัฒนาส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ การสร้างสรรค์ชิ้นงาน ซึ่งคล้ายกับวิชา Design and Technology ในประเทศอังกฤษ จึงมีข้อสรุปว่าควรปรับวิชานี้เป็น "การออกแบบและเทคโนโลยี" และให้รวมไว้กับกลุ่มการงานอาชีพและเทคโนโลยี วิชานี้จึงถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 แต่นั้นเป็นต้นมา นี่จึงเป้นที่มาของการมีวิชานี้นั่นเอง

หน่วยงานที่ได้รับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตรและส่งเสริมการเรียนการสอนวิชานี้คือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยหน่วยงานโครงการเทคโนโลยี เป็นกำลังหลักในการพัฒนา

ผลจากการเริ่มทดลองใช้วิชาในหลักสูตร 44 พบว่ามีอุปสรรค์หลายๆ อย่างตามมา ทั้งตัวหลักสุตรและความพร้อมของครูผู้สอน จึงมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับให้เข้ากับบริบทประเทศไทย โดยพยายามนำแนวคิดการจัดการเรียนรู้ตามประเทศอเมริกา อังกฤษ และชาติอื่นๆที่มีการจัดการเรียนรู้วิชานี้ กระทั่งต่อมามีการเตรียมปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 มาเป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 วิชาการออกแบบและเทคโนโลยีก็ยังคงอยู่ในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี แต่มีการปรับตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้ให้เหมาะสมมากยิ่งขื้นพร้อมกับให้ทันต่อโลกการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นหลักสูตรในปัจจุบันที่ใช้กันอยู่

ปัจจุบัน สสวท. โดยโครงการเทคโนโลยี กำลังหาแนวทางการพัฒนาในอนาคตเพื่อการปรับหลักสูตรวิชาให้ทันต่อโลกการเปลี่ยนแปลงและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยอยู่ตลอดเวลา

ผมเขียนเล่าในเชิงประวัติมาซะเยอะเลย ยังไม่ทันเข้าเนื้อหาว่าจริงๆ แล้ววิชานี้สอนอะไร เอาเป้นว่าคงต้องรอโอกาสหน้าจะเล่าใหม่ค้าบ เพราะว่าเหนื่อยแล้ว

หากท่านใดสนใจที่จะร่วมมือ หรือมีข้อเสนอแนะดีๆ กับวิชาเราก็เสนอมาได้นะครับ